วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ประเพณีไหลเรือไฟ ของเฮา (บ้านชาติ ต.บ้านไทย อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ)


"ไทยอีสานเเฮานี้ มีของดีอยู่หลายบ่อน ออนซอนข้าวในนาอีกทั้งปลาในน้ำให้คนเฮาได้เฮ็ดกิน ผักในป่าพร้อมเห็ดดงดอน เก็บมาเฮ็ดตั้งแต่ก่อนกี้ สู่มื้อนี้ยังคือเก่า คนบ้านเฮาฮักษาสืบฮอยตา วาฮอยปู่ ประเพณีวัฒนธรรมอันล้ำค่าจั่งยังมาให้ลูกหลาย...พี่น้องเอ้ย"

หากกล่าวถึงวิถีชีวิตของคนอีสาน ในบทความนี้ฉันนึกถึง "ความเป็นบ้านฉัน" รอยยิ้มที่ถูกส่งจากครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมไปถึงผู้คนในหมู่บ้านเดียวกัน อันสะท้อนให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกซ่อนไว้ด้วยความหมายและนัยยะของการแสดงออกผ่านร่่างกายและวัจนะ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในหมู่บ้าน ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆเป็นสิ่งที่หล่อหลอมและแสดงถึงพลังของความเชื่อภายใต้การปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า "การสืบทอด" ซึ่งท้องถิ่นของฉันเรียกการปฎิบัติเช่นนี้ว่า "สืบฮอยตา  วาฮอยปู่"

สืบฮอยตา  วาฮอยปู่ ในช่วงเวลาของการเข้าสู่ "วันออกพรรษา" หมู่บ้านของฉันยังคงให้ความสำคัญกับประเพณีภายใต้ความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดผ่านวิถีการดำเนินชีวิตและการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ โดยเรียกกันว่า "ประเพณีไหลเรือไฟ" ซึ่งฉันได้ทำหน้าที่ "ลูกหลาน" ในการรับรู้และสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้มาเช่นทุกปี และปีนี้ (2559) ก็คงเช่นกัน...

สำหรับการถ่ายทอดเรื่องราว "ประเพณีไหลเรือไฟ" ครั้งนี้ ฉันได้นำมาจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และสัมผัส (จนถูกฝังอยู่ภายใน) อันมาจากหลายบริบท ทั้งความสนใจ หน้าที่ และวิถีที่ต้องปฏิบัติ "อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
.....................
..................... 
แต่ฉันก็ชอบและประทับใจใน "ความเป็นบ้านเฮา"

"ประเพณีไหลเรือไฟ 2558 ณ หมู่บ้านชาติ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี"
โดยการอ้างอิงจากส่วนหนึ่งในบทความของฉัน "มันทนา  ขุมกลาง" โดยมีหัวข้อบทความชื่อ "ไหลเรือไฟ ของชาวบ้านชาติ เขื่องใน อุบลราชธานี   วิถีชุมชนกับการสื่อความหมายด้านความเชื่อและบทบาทการสร้างอำนาจทางสังคม" ที่ได้เขียนขึ้นในปีที่ผ่านมา (2558)  ซึ่งบทความนี้ฉันได้สร้างสรรค์จากการเรียนในช่วงปริญญาตรี ขอขอบคุณ "ผศ.ชานนท์ ไชยทองดี" ผู้เป็นที่มาของการเขียนบทความ ขอขอบ "คุณครอบครัว ญาติพี่น้อง และผู้คนในหมู่บ้าน" ที่สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งให้เกียรติเป็นองค์ประกอบของประเพณีไหลเรือไฟ และขอขอบคุณหมู่บ้านของฉัน "บ้านชาติ ต.บ้านไทย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี" ที่เป็นพื้นที่ให้ฉันได้เรียนรู้หลายๆสิ่งที่ดีของ "ความเป็นอีสาน"  
...
...
*เนื้อหาในบล็อคนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากบทความเท่านั้น
...
...
"ปล่อยเฮือไฟ  หรือไหลเรือไฟ"  เป็นประเพณีของชาวบ้านชาติ  ตำบลบ้านไทย  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่บริเวณรอบหมู่บ้านทางด้านทิศตะวันตกที่มีแม่น้ำชีไหลผ่าน  ซึ่งการไหลเรือไฟเป็นแนวปฏิบัติของชาวบ้านที่สืบต่อกันมาด้วยความเชื่อ  ความศรัทธาและเป็นข้อบังคับในวิถีวัฒนธรรมประเพณี  จัดขึ้นในทุกๆปีหลังจากออกพรรษา  คือ  วันแรม  ค่ำ  เดือน  11  โดยปรากฏในลักษณะของการสร้างวัตถุจากนามธรรม  คือ  คำบอกกล่าว  เพื่อนำไปสู่รูปธรรมตามความคิดของชาวบ้านอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของเรื่องราวที่เรียกว่า  มุขปาฐะ  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องด้านความเชื่อโดยเริ่มตั้งแต่สถานที่  บุคคล  สิ่งของ  และเวลา  ซึ่งล้วนต่างเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นเรือไฟนั้นมีความหมายที่แฝงอยู่  และนำไปสู่การกำหนดแบบประพฤติปฏิบัติในเชิงของวัฒนธรรมประเพณีที่เชื่อมโยงกับอำนาจลี้ลับ  ความเชื่อ  ตลอดจนจิตปรารถนาของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น  ทั้งนี้การไหลเรือไฟหรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า  “ปล่อยเฮือไฟ”  นั้น  ยังแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของอำนาจที่ซ่อนอยู่เหนือธรรมชาติภายใต้บริบทของชุมชน  ซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านอันเป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อเตือนสติชาวบ้านให้เห็นคุณค่าอำนาจ  และแนวปฏิบัติแบบชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างกลไกหรือแรงขับกระตุ้นให้บุคคลรู้สึกตัว  มีสติ  อันนำไปสู่การรู้จักกำหนดควบคุมตนเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นบนวิถีชุมชนที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้  การปล่อยเฮือไฟ  หรือไหลเรือไฟ  ยังมีบทบาทในการสร้างอำนาจทางสังคม  กล่าวคือ  ชาวบ้านได้นำคำบอกกล่าวที่ได้เล่าสืบต่อกันมานั้นมาสร้างเป็นรูปธรรมให้เกิดความหมาย  เพื่อสื่อให้เห็นถึงการแสดงตัวตนในชุมชน  การออกรับหน้าที่เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมั่น  สร้างแรงจูงใจ  หรือในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นการสร้างเครื่องมือในการจัดการกับอำนาจทางด้านการปกครองกันเองภายใต้บริบทของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงทางสังคม
การแสดงตัวตน บทบาท และหน้าที่ของผู้นำพร้อมทั้งสมาชิกในหมู่บ้านในการสร้าง "เรื่อไฟ"

เรื่องราวของการไหลเรืือไฟในหมู่บ้านฉัน เกิดขึ้นตั้งแต่ความเชื่อที่ถูกสืบถอดผ่านวิถีปฏิบัติ ไปสู่การรวมตัวของสมาชิกในหมู่บ้าน การสร้างสัญลักษณ์ (เรื่อไฟ) และการดำเนินงานจนเสร็จสิ้น โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นศูนย์การรวมตัว
สาคร  ยอดบุญ  ปราชญ์ชาวบ้านในหมู่บ้าน (และเป็นน้าของฉัน) เล่าว่า  แต่ก่อนแต่กี้เฮือไฟมันเป็นการเฮ็ดเพื่อเอาความโชคร้าย สิ่งบ่ดี  ความทุกข์  ความโศกเศร้าและกะโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทั้งปวงนั้นไปปล่อยลงน้ำ  แต่ว่ากะบ่ได้มีแค่ว่าเอาสิ่งบ่ดีในตัวของเฮาไปปล่อยถ่อนั้น  การปล่อยเฮือไฟมันยังเป็นการขอขมาลาโทษแม่น้ำชีที่ชาวบ้านเฮาได้ปล่อยของเสีย  ขยะสิ่งสกปรก  ลงในน้ำตอนที่มาหากิน  หรืออีกอย่างหนึ่งกะขอบคุณแม่น้ำชีที่เพิ่นเป็นหม่องหาอาหารเลี้ยงชีวิตชาวบ้านเฮา  และกะเรื่องที่สำคัญที่สุดของการปล่อยเฮือไฟ  กะคือการอุทิศหรือส่งข้าวของ  เครื่องใช้  เงิน  พร้อมกับอาหารไปให้บรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว  เพื่อสิให้เพิ่นมีแนวใช้ในชีวิตภพภูมิหน้าของเพิ่น  ส่วนการเฮ็ดรูปร่างของเฮือไฟกะบ่มีหยังหลายขอแค่ให้มันลอยได้  สิ่งที่เอาไปลอยกะคือต้นดอกเผิ่ง  ผู้ใหญ่เพิ่นสิเลือกเอาต้นที่งามที่สุดของมื้อแห่ต้นดอกเผิ่งวันออกพรรษานั้นมาไว้ถ้าใส่แพลอยชาวบ้านเผิ่นกัสิตั้งใจเฮ็ดต้นดอกเผิ่งของเจ้าของให้งามๆ  ก่อนมื้อสิเฮ็ดกะประมาณเดือนหนึ่ง  ชาวบ้านบ้านผู้ได๋สิเฮ็ดนิเพิ่นสิออกหาต้นกล้วยตานีใหญ่จับจองกัน  เพราะว่าถ้าต้นกล้วยใหญ่มันกะสิเฮ็ดต้นดอกเผิ่งได้งาม  จนมาฮอดสู่มื้อนิบ้านเฮากะยังเอาต้นกล้วยมาเฮ็ดต้นดอกเผิ่ง  และกะเฮ็ดใส่เฮือไฟ  รูปร่างของเฮือกะเลยแปรเปลี่ยนไปเรื่อยไปตามความคิดของชาวบ้านผู้เฮ็ด  จากแพไม้ไผ่กะมาเป็นเฮืองามๆ  พร้อมกับประดับตกแต่งด้วยดอกไม้แหน่  พวงมาลัยแหน่นั่น หล่ะ

 
ชาวบ้านร่วมกันสร้างเรือไฟ
จากประวัติเรื่องราวการปล่อยเฮือไฟหรือการไหลเรือไฟของชาวบ้านชาติ  ตำบลบ้านไทย  อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี  จะเห็นได้ว่าชาวบ้านมีความผูกพันกับธรรมชาติ  ความสัมพันธ์ทางด้านการดำรงชีวิตที่ต่างอยู่ร่วมกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ชาวบ้านและระบบนิเวศนั้นเอื้อประโยชน์ต่อกัน  โดยการทำเรือไฟ  ชาวบ้านต้องใช้ต้นกล้วยทั้งที่ปลูกเองตามข้างรั้วบ้านเรือนหรือที่เกิดขึ้นเองตามริมแม่น้ำชี  มาเป็นส่วนประกอบหลักในการทำเรือไฟ  ส่วนฐานหรือโครงร่างของเรือไฟนั้นก็ใช้ไม้ไผ่ที่ขึ้นตามขิมฝั่งแม่น้ำชี  ทั้งไม้ไผ่ลำสีเขียวบ้าง  หรือลำสีน้ำตาลบ้าง  เพื่อใช้ถ่วงน้ำหนักให้สมดุลสำหรับการรองรับน้ำหนักของแพจากตันกล้วยตานีที่ใช้เป็นฐานของเรืออีกชั้นหนึ่ง

ลักษณะของเรือไฟที่สร้างเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ในกระบวนการของการไหลเรือไฟ  สถานที่ที่นำเรือไฟไปปล่อยลงสู่แม่น้ำชีนั้น  เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านต่างได้สัมผัสกับบรรยากาศของทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้  สัตว์ป่า และความเย็นจากลำน้ำชี  ซึ่งเรียกว่าท่าน้ำชี  ในวันของการไหลเรือไฟชาวบ้านส่วนหนึ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งต่างมุ่งหน้าไปสู่ท่าน้ำชีตั้งแต่ตอนเช้า  เพื่อไปทำความสะอาด  ปัดกวาดเช็ดถู  บริเวณศาลาท่าน้ำชี  รวมทั้งตัดเครือไม้เพื่อสร้างทางลงสู่แม่น้ำชี  ส่วนชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งเมื่อถึงเวลาสายๆต่างก็ทยอยกันไปที่ท่าน้ำชีเช่นกัน  แต่ชาวบ้านส่วนหลังจะเดินทางไปพร้อมกับเสบียงอาหาร  ถ้วยชาม  เสื่อ และสิ่งของอื่นๆ  ที่สำคัญคือเดินทางไปพร้อมกับเรือไฟที่ถูกจัดขึ้นรถไถแล้วนำไปสู่ท่าน้ำชี  วิถีชีวิตของชาวบ้านในวันแรม  ค่ำ  เดือน  11  นี้ล้วนใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ  ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าธรรมชาติลำน้ำชีในวันปล่อยเฮือไฟ  คือ  การได้หวนกลับมาบ้านเกิดของตนเองอีกครั้ง  เพราะภายในจิตสำนึกของชาวบ้านต่างตระหนักรู้โดยทั่วกันว่าพวกเขาจะได้ติดต่อกับบรรพบุรุษ  หรือญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว  แม้ไม่ได้เห็นด้วยตาแต่ก็สามารถสื่อสารโดยที่บรรพบุรุษญาติพี่น้องเหล่านั้นรับรู้  นอกจากนี้การสร้างความสัมพันธ์ทางธรรมชาติของชาวบ้านชาติ  ยังแสดงออกในลักษณะของการอนุรักษ์  สงวนไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติภายใต้บทบัญญัติพิธีกรรมทางศาสนา  โดยชาวบ้านชาติมีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์  มีการทำขวัญป่าตลอดจนชาวบ้านชาติร่วมกัน  กินข้าวป่า**  มีการจับปลาในแม่น้ำชีมาทำเป็นอาหาร  ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับธรรมชาติที่เป็นจุดเด่นในการปล่อยเฮือไฟหรือไหลเรือไฟ  คือ  การนำเรือไฟไปลอยตามลำน้ำชี  ในจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำนึกของชาวบ้านทั้งการขอขมาลาโทษแม่น้ำชีในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน  การกล่าวขอบคุณแม่น้ำชีที่เป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์แก่ชาวบ้าน  และขอความเมตตาช่วยเหลือจากแม่น้ำชีให้นำสิ่งของที่บรรจุอยู่ในเรือไฟนี้ไปให้บรรพบุรุษญาติพี่น้องที่ได้ล่วงลับหรือตายไปแล้ว  หลังจากนี้เรือไฟก็จะลอยไปตามกระแสลำน้ำชีโดยไม่มีใครรู้ได้ว่าปลายทางของเรือไฟนี้จะสิ้นสุด  ณ  ที่แห่งใด


การไหลเรือไฟ ลงสู่แม่น้ำชี
ความเชื่อในองค์ประกอบของเรือไฟ
            ความเชื่อที่ผ่านองค์ประกอบของเรือไฟแต่ละสิ่ง  ล้วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านและมีความหมายในการส่งสิ่งของเหล่านั้น  โดยองค์ประกอบของเรือไฟต่างมีความเชื่อโดยนัยแห่งความหมาย  ดังนี้
                   -  สถานที่ในการทำเรือไฟและประกอบพิธีไหลเรือไฟ  สำหรับสถานที่ในการทำเรือไฟคือ  วัด  ซึ่งเชื่อถึงการเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆด้วยบุญกุศล  มีพยานสิ่งศักดิ์สิทธ์เทวดา และผู้มีอำนาจลี้ลับ  เป็นผู้ดูแลการทำงานให้สำเร็จ  ซึ่งเป็นการสร้างบุญกุศลแก่ชาวบ้าน  ส่วนสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีไหลเรือไฟนั้น  คือ  ท่าน้ำชี  ซึ่งต้องมีลักษณะเป็นโนนดินสูง  เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่าเมื่อตนเองตายไปแล้วจะได้ไปอยู่ในภพภูมิที่สูงๆ
                    -  ปราสาทผึ้ง  หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า  “ต้นดอกเผิ่ง”  เป็นความเชื่อที่ชาวบ้านเชื่อว่าปราสาทผึ้งเป็นบ้านของตัวเราเอง  หากนำใส่เรือไฟจะเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว  ทั้งยังเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับตนเองในเมื่อคราวที่ตนเองต้องตายจะได้มีวิมานบนสวรรค์  (เพราะชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเมื่อตายไปจะได้อยู่บนสวรรค์)
                    -  บังสุกุล  ได้แก่  เสื้อผ้า  หมอน  เสื่อ  เป็นต้น  ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้อง  ทั้งยังเป็นการส่งบังสุกุลนี้ให้แก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องได้ใช้ในภพภูมิที่พวกเขาอยู่
                   เทียน  ธูป  และดอกไม้  เป็นเครื่องบูชาพระแม่คงคาในแม่น้ำชีเพื่อเป็นสัญญาณที่ชาวบ้านต้องการให้แม่คงคานำสิ่งของ  เครื่องใช้ต่างๆที่บรรจุอยู่ในเรือไฟนั้นไปส่งให้แก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ได้ตายไปแล้ว  พร้อมทั้งเชื่อว่าเป็นแสงสว่างในการทำทางชีวิตให้ดำเนินชีวิตไปได้โดยราบรื่น
                   -  เสบียงอาหาร  เช่น  ข้าว  ปลาร้า  มะพร้าว  อ้อย  และอื่นๆ  เป็นความเชื่อด้านการอุทิศกุศลและการส่งอาหารให้แก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้อง  เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องลำบากแต่มีอาหารให้กินอย่างสมบูรณ์
                   -  ไม้ไผ่  และต้นกล้วย  เป็นความเชื่อด้านการสร้างความมั่นคงในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน  เชื่อว่าได้สร้างเกราะป้องกันภัยอันตรายต่างๆทั้งที่เกิดจากอำนาจลี้ลับที่มองไม่เห็นหรือภัยรอบตัวให้แก่ตนเอง  และเป็นการสร้างรากฐานชีวิตที่ไม่ต้องประสบกับความยากลำบาก
                   -  ปัจจัย  คือความเชื่อในการบริจาคทานเพื่อเป็นทุนทรัพย์ของชีวิตในภพภูมิหน้า  รวมถึงการคาดหวังให้มั่งมีในการประกอบอาชีพในปัจจุบัน
                   -  เส้นผม  เล็บ  ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการนำสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายออกจากชีวิตของตนเอง  เป็นการปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้หายไป


องค์ประกอบของเรือไฟ
ความเชื่อในแนวปฏิบัติในการไหลเรือไฟ
                        แนวปฏิบัติในการไหลเรือไฟของชาวบ้าน  คือ  การอธิษฐานบอกกล่าวทั้งเทพเทวาอารักษ์  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย  ที่สำคัญคือพระแม่คงคา  ด้วยความเชื่อที่ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นการอ้อนวอน  ขอความเมตตา  ขอความช่วยเหลือให้อำนาจดังกล่าวบันดาลดลให้ชีวิต  และคำอธิษฐานต่างๆที่ปรารถนาของชาวบ้านนั้นเป็นจริง  ทั้งยังเชื่อว่าเป็นการติดต่อสื่อสารกับอำนาจลี้ลับเหล่านั้นด้วยความสำรวม  เคารพ  ซึ่งหากชาวบ้านได้อธิษฐานบอกกล่าวแล้วชีวิตย่อมจะพบกับความสุข  ความเจริญ
                   นอกจากนี้แนวปฏิบัติในการไหลเรือไฟยังมี  การตัดเล็บ  นำเส้นผม  หรือเอาปั้นข้าวเหนียวมาจ้ำๆตามบริเวณ หรือส่วนต่างๆของร่างกายที่ไม่สบาย  แล้วนำไปไว้ในเรือไฟ  เพราะชาวบ้านชาติเชื่อว่า  การกระทำดังกล่าวเป็นการนำสิ่งไม่ดี  นำสิ่งชั่วร้าย  ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  ให้หายไปจากชีวิตของตน  ซึ่งเป็นการบรรเทาทุกข์และปัดเป่าภัยอันตรายให้หนีไปในขณะที่กำลังประกอบอาชีพนั่นเอง

วิถีปฏิบัติของชาวบ้าน ที่แสดงออกถึงความเชื่อกับการไหลเรือไฟ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น