ฉันเชื่อ..ในแรงศรัทธา
BY Mantana
ฉันขอขอบคุณผู้เป็นที่มาทั้งหมดของนิทานเรื่องนี้ ของคุณ "ผศ.ชานนท์ ไชยทองดี" ที่ให้ฉันได้ทำงานในส่วนที่เรียกว่า "ภาคสนาม" ช่วงที่เรียนระดับปริญญาตรี ขอบคุณ "คุณตาของฉัน (นายสิงห์ คงทน)" ที่พาไปยังพื้นที่นี้จนงานสำเร็จ ขอบคุณ "คุณพ่อคูณ บุญเต็ม และคุณแม่จันทร์ ผ่องใส" ผู้บอกเล่าเรื่องราวในสมัยที่ท่านได้อยู่ ณ ที่แห่งนี้ ขอบคุณ "เพื่อนร่วมทาง (ปู เมธินี)" ที่เป็นฝาแฝดของฉันและทำหน้าที่ขับรถให้คุณตานั่งอย่างปลอดภัย ขอบคุณ "สถานที่โนนยาง บ้านทุ่งใหญ่ ต.บ้านไทย อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ" ที่เป็นพื้นที่ให้ฉันได้ศึกษา และขอขอบคุณ "ตัวฉันเอง" ที่กล้าและตั้งใจทำงานจนสำเร็จ..
นิทานพื้นถิ่นบ้านทุ่งใหญ่
:
โนนยาง
เล่าโดย :
คุณพ่อคูณ บุญเต็ม
อายุ 85 ปี และคุณแม่จันทร์ ผ่องใส
อายุ 82 ปี บ้านเลขที่
142 หมู่ที่ 9 บ้านทุ่งใหญ่
ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน
จังหวัดอุบลราชธานี
"คุณพ่อคูณ บุญเต็ม และคุณแม่จันทร์ ผ่องใส" |
นิทานพื้นถิ่นบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน
จังหวัดอุบลราชธานี เรื่องโนนยาง
ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้นตามคำบอกเล่าของคุณพ่อคูณ
บุญเต็ม และคุณแม่จันทร์ ผ่องใส
ซึ่งทั้งสองท่านได้เล่าว่า
ในสมัยก่อนขณะที่ท่านยังเป็นเด็ก
อายุประมาณ 8-9 ปี
ท่านเคยไปเล่นที่โนนยางกับพ่อแม่และก่อนหน้านี้ก็เคยไปเก็บปลาที่โนนยางเช่นกัน
ในตอนนั้นท่านไม่รู้หรอกว่าทำไมจึงมีปลามากมายกองเต็มพื้นดินในบริเวณของโนนยาง ท่านรู้เพียงว่าทุกๆวันท่านต้องตื่นแต่เช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น (เวลาประมาณ 05.00 น. – 06.00
น.) เพื่อไปเก็บปลาที่โนนยางมาทำปลาร้า
โนนยาง บ้านทุ่งใหญ่ |
วันหนึ่งระหว่างที่ท่านกำลังเก็บปลาอยู่นั้นท่านก็ได้มองไปที่สระน้ำใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับโนนยางจึงได้ถามพ่อขึ้นว่า
“ปลาที่พวกเรากำลังเก็บอยู่มาจากสระน้ำนั่นใช่ไหมพ่อ”
พ่อลา (พ่อของคุณพ่อคูณ) จึงได้ตอบว่า
“ปลาส่วนหนึ่งมาจากสระน้ำนั่น
แต่อีกส่วนหนึ่งคงมาจากที่อื่น”
ด้วยความเป็นเด็กเมื่อท่านได้ยินคำตอบดังนั้นก็ไม่ได้สงสัยอะไรเกี่ยวกับสระน้ำอีก
แต่สักพักหนึ่งก็ได้ถามพ่ออีกว่า
“แล้วโนนยางทำไมจึงเกิดเป็นโนนยางหละพ่อ”
เมื่อพ่อลาได้ยินที่ท่านถามก็หันมามองแล้วเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “โนนยาง” ความว่า
“โนนยางนี้ตั้งแต่ที่พ่อเกิดมาปู่ก็เล่าให้ฟังว่า
ในสมัยที่พวกข่า หรือ ขอม (เขมร) เรืองอำนาจ
พวกเขาศรัทธาเกี่ยวกับการสร้างบุญบารมี และในครั้งก่อนสมัยที่มีการสร้างพระธาตุพนม
พวกข่า ขอม (ลักษณะคนข่า หรือ ขอม มีลักษณะตัวสูงใหญ่ เรียกกันว่า “คนแปดศอก”)
บางส่วนที่ใฝ่ในการสร้างวัตถุมหาเจดีย์เพราะเชื่อว่าได้บุญมาก
จึงได้พากันอพยพพร้อมกับเตรียมหินลักษณะต่างๆที่มีขนาดใหญ่ ข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่า
เดินทางดั้นด้นมาจนถึงบริเวณที่เป็นบ้านทุ่งใหญ่ในปัจจุบัน
ก็ได้ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว ดังนั้นพวกข่า ขอม
จึงได้พากันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่และให้ชื่อว่าบ้านขโมย (อ่านว่า ขะ-โหมย) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านทุ่งใหญ่ในปัจจุบัน
พร้อมทั้งช่วยกันขุดสระไว้ใกล้ๆกับที่อยู่ของตนเพื่อเป็นแหล่งน้ำและอาหาร
แล้วนำดินที่ขุดขึ้นนั้นมาทับถมหินต่างๆรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่า
โดยถมไว้เป็นกองดินขนาดใหญ่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าครั้งหนึ่งพวกตนก็ได้มีจิตศรัทธาที่จะสร้างพระธาตุพนมเช่นกัน
ต่อมากองดินขนาดใหญ่นี้จึงได้ชื่อว่า “โนนยาง” ซึ่งเรียกตามต้นไม้ที่เกิดขึ้นบริเวณโนนแห่งนี้
และสระน้ำที่อยู่ถัดจากโนนยางก็เรียกชื่อว่า “สระปทุมทิพย์”
ซึ่งเรียกตามความเชื่อใดไม่ปรากฏคำบอกเล่า”
พื้นที่จากโนนยางลงไปสู่สระปทุมทิพย์ |
สระปทุมทิพย์ |
หลักฐานที่ปรากฏอันแสดงว่าพวกข่าหรือขอม
เป็นผู้สร้างโนนยางขึ้นมาในสมัยก่อน ได้แก่ ใบเสมา และเสาบ้านหลักบ้าน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
, หินเก่า ปัจจุบันอยู่ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จังหวัดอุบลราชธานี ,
หินลักษณะคล้ายหลักศิลา ซึ่งมีตัวอักษรขอมจารึกอยู่ ปัจจุบันอยู่ที่วัดศรีทอง
จังหวัดอุบลราชธานี
คุณพ่อคูณ
และคุณแม่จันทร์ยังเล่าต่ออีกว่า ลักษณะของโนนยางในสมัยก่อนเป็นโนนดินขนาดใหญ่และสูงชันมาก
มีทางเกวียนล้อมรอบ (ปัจจุบันเป็นถนนที่สัญจรไปมาในหมู่บ้าน) และมีต้นไม้ใหญ่มากมาย
เช่น ต้นโพธิ์ศรี (ลักษณะเหมือนต้นงิ้วในเมืองนรก) ต้นกระบอกเพชรยักษ์ ต้นยางนา
(มีรากขนาดใหญ่ซึ่งตัวคนสามารถหลบซ่อนลี้ภัยได้) ซาสู่ต้น (พืชสมุนไพร)
ซึ่งพุ่มไม้แต่ละต้นจะมีนก กา แร้ง มากมายต่างมาทำรัง
และตอนเช้าสัตว์เหล่านี้จะออกไปหาอาหารมาให้ลูกของพวกมันกิน
ตอนนี้ท่านรู้แล้วว่าปลาที่ไปเก็บบริเวณโนนยางมาจากนก กา แร้ง
ที่มันคาบมาให้ลูกมันกินแต่ทำตกพื้นดินนั่นเอง ทั้งนี้ท่านยังเล่าถึงความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ของโนนยางอีกว่า
โนนยางจะต้องเป็นที่แห่งความเคารพสักการะ
(สันนิษฐานว่าเป็นแรงศรัทธาของพวกข่าหรือขอมที่จะสร้างพระธาตุพนม)
ถ้าผู้ใดหลบหลู่หรือไม่ขออนุญาตก่อนกระทำการใดๆในหมู่บ้าน ผู้นั้นจะมีอันเป็นไป
เช่น ปลัดบุญ มีนโยบายให้คนเฒ่าคนแก่เลิกเคี้ยวหมากเพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ
จึงนำทีมชาวบ้านมาตัดพลูบริเวณโนนยาง
พอค่ำคืนของวันนั้นปลัดบุญก็ล้มป่วยจนต้องมาขอขมาโนนยางจึงหายป่วย หรือนายสีโห
โลภมากไปขุดดินบริเวณโนนยางเพื่อขโมยพระพุทธรูปองค์เล็ก
เมื่อขุดได้จึงรีบขึ้นเกวียนหวังจะเดินทางเอาพระพุทธรูปไปขาย
แต่พอขึ้นเกวียนฟ้าก็ผ่าลงมาที่ร่างนายสีโหเสียชีวิต ณ ทางเกวียนข้างโนนยาง จนสมัยหลวงปู่แสงท่านได้พาชาวบ้านมาขอขมาบอกกล่าวโนนยางว่าจะขอสร้างที่แห่งนี้ในการประกอบกิจทางศาสนา
หลวงปู่ได้กระทำเช่นนี้ถึงสามครั้งจึงสำเร็จในการสร้างเป็นสถานที่ที่ควรเคารพประจำหมู่บ้านทุ่งใหญ่
โนนยางจึงเป็นโนนดินขนาดใหญ่กลางหมู่บ้านและมีสระน้ำอยู่ถัดกันไปเรียกว่าหนองใหญ่
บริเวณพื้นที่โนนยาง |
ต้นไม้ที่อยู่บนบริเวณพื้นที่โนนยาง |
ในปัจจุบันด้วยระยะเวลาทั้งฝนตกทำให้น้ำไหลเซาะดิน
หรือการทับถมที่ค่อยๆยุบตัวลง โนนยางจึงมีลักษณะสูงลาดเอียง ไม่สูงชันเท่าเดิม แต่ยังคงเป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวบ้านทุ่งใหญ่
เช่น เป็นสถานที่เลี้ยงปู่ตา โดยพิธีเลี้ยงปู่ตาของบ้านทุ่งใหญ่ จะกำหนดหลังจากประเพณีสงกรานต์ไปแล้ว เมื่อกำหนดวันแล้ว ผู้ชายจะมาทำความสะอาดบริเวณศาลา (ศาลปู่ตาอยู่บนโนนยาง) และเตรียมเครื่องเซ่น ได้แก่ เหล้า ข้าวต้มมัด ไก่ ไข่ เต่า ซึ่งต้องปรุงเป็นอาหารไหว้ปู่ตา รวมทั้งสิ่งอื่นๆที่ชาวบ้านเตียมมา ทั้ง ข้าวนึ่งสุก พืชไร่ต่างๆ เช่น เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดข้าวโพด ถั่ว งา ใบไผ่ และเตรียมดอกไม้ธูปเทียนเพื่อบูชา
ในการประกอบพิธีไหว้ปู่ตาจะมีพ่อจ้ำเป็นผู้ทำพิธี หลังจากนั้นก็จะหว่านพืชไร่
และชาวบ้านร่วมกันปล่อยตาตัวเล็กๆและปลาไหลลงสู่สระน้ำ คือ หนองใหญ่ ใกล้โนนยาง
ลักษณะความลาดชันบริเวณโนนยางและสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น